About ประวัติสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕o๗ พลเรือโท ศิริ กระจ่างเนตร ร่วมกับคณะบุคคลอีก ๖ คน ได้เล็งเห็นความสำคัญของกีฬาแข่งเรือใบที่สมควรจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองเทียบเท่านานาประเทศ จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมแข่งเรือใบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๆ คือ ๑. ส่งเสริมการแล่นใบในน่านน้ำไทย ๒. วางระเบียบข้อบังคับการแข่งเรือใบและจัดการแข่งให้เป็นการสมัครเล่น อย่างแท้จริง โดยควบคุมอย่างใกล้ชิด ๓. จัดให้มีการแข่งระหว่างประเทศในน่านน้ำไทย ๔. จัดชุดเข้าร่วมแข่ง ณ ต่างประเทศ ๕. เข้าร่วมกับองค์การแข่งขันเรือใบระหว่างประเทศ และองค์การส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พลเรือโท ศิริ กระจ่างเนตร ได้ร่วมกันเสนอและได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยได้ เมื่อ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยมีที่ตั้งสำนักงานของสมาคมฯ เป็นครั้งแรก ณ เลขที่ ๕๘ ถนนรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร และมีคณะผู้ก่อตั้งทั้ง ๗ คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมแข่งเรือใบชุดแรก และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี ๒๕๐๙ ดังนี้ คือ ๑. พลเรือโท ศิริ กระจ่างเนตร เป็นนายกสมาคม ๒. พลตำรวจตรี นิตย์ สุขุม เป็นอุปนายก ๓. นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นเลขาธิการ ๔. นายวิลาศ บุนนาค เป็นเหรัญญิก ๕. ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นกรรมการ ๖. หม่อมเจ้า การวิก จักรพันธ์ เป็นกรรมการ ๗. พลเรือตรี สัมพันธ์ บุนนาค เป็นกรรมการ เนื่องจากสำนักงานที่ทำการของสมาคมแข่งเรือใบ ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๕๘ ถนนรองเมือง นั้น เป็นเพียงที่ตั้งชั่วคราวเท่านั้น สำนักงานของสมาคมจึงจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ ณ สถานที่ต่าง ๆ เรื่อยมา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเหมาะสมในการปฏิบัติงานของนายกสมาคม และเลขาธิการสมาคม ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นหลัก จนกระทั่งได้รับความกรุณา จากกองทัพเรือ อนุญาตให้ใช้สถานที่ของทางราชการที่ราชนาวีสโมสร และต่อมาที่ อาคาร ๕ ในเขตกองบัญชาการกองทัพเรือเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน ของสมาคมแข่งเรือใบตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ต่อมาในสมัย พลเรือโท อาคม ศรีคชา เป็นนายกสมาคม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ให้สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระมหากรุณา ให้สมาคมแข่งเรือใบ แห่งประเทศไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นมา นอกจากนี้สมาคมแข่งเรือใบฯ ยังได้รับเกียรติจากหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ดำรงตำแหน่งเป็น นายกกิตติมศักดิ์ ของสมาคมแข่งเรือใบฯ ตั้งแต่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ อีกด้วย ยังความปลาบปลื้มปีติแก่บุคคลในวงการกีฬาแข่งเรือใบเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสที่ประเทศไทย ได้เป็นจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๑๘ เมื่อปี ๒๕๓๘ และมีเรือใบเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยทำการแข่งขัน ณ บริเวณ อ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นั้น ในโอกาสที่ นายปองพล อดิเรกสาร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และดูแลการกีฬาของชาติอยู่ในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาเรือใบที่สัตหีบ ได้รับทราบและเข้าใจปัญหาในการปฏิบัติงานของสมาคมแข่งเรือใบฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของที่ตั้งสำนักงานของสมาคมฯ ซึ่งยังไม่มีเป็น หลักแหล่ง จึงได้มอบหมายให้สมาคมฯ จัดทำโครงการ และความต้องการงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการของสมาคมแข่งเรือใบฯ เป็นการรีบด่วน แล้วเสนอเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งต่อมารัฐบาลในสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท ให้ทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการของสมาคมฯ ได้ อาคารที่ทำการของสมาคมแข่งเรือใบฯ แห่งใหม่ได้เริ่มก่อสร้างตามสัญญา เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ โดยได้รับความกรุณาและเอื้อเฟื้อจากกองทัพเรือให้ทำการก่อสร้าง ในพื้นที่ของกองเรือยุทธการ และแล้วเสร็จเมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “ศูนย์สมุทรกีฬา” และทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปทรงเปิด “ศูนย์สมุทรกีฬา” ในวันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. สามารถ ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบระดับนานาชาติได้เป็นครั้งแรกในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ ปัจจุบันอาคารดังกล่าวใช้เป็นที่ทำการของสมาคมกีฬาแข่งเรือใบสำนักงานสัตหีบ เป็นสถานที่สำหรับเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติเพื่อการฝึกซ้อม รวมไปถึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมกีฬาเรือใบสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ สมาคมฯได้ย้ายที่ทำการของสมาคมอีกครั้งหนึ่ง โดยดำริของ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย โดยได้ย้ายจากอาคาร ๕ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ มายัง พื้นที่ อาคารกองบัญชาการกรมอู่ทหารเรือ อู่ทหารเรือธนบุรี โดยปรับปรุงพื้นที่ชั้น ๔ ของอาคารเป็นที่ทำการของสมาคมฯ ซึ่งต่อมากรมอู่ทหารเรือได้ย้ายออกจากพื้นที่ และส่งมอบอาคารให้กับฐานทัพเรือกรุงเทพ โดยสมาคมฯมีที่ทำการอยู่บริเวณ ชั้น ๔ อาคารกองบัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน รวบรวมโดยพลเรือโท สมบัติ ไชยทรัพย์ เลขาธิการฯ เมื่อพ.ศ.๒๕๔๑ บันทึกเพิ่มเติมโดย นาวาเอกยุทธนา อักษรศรี ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๓ Share this:TwitterFacebookLike this:Like Loading...